ลักษณะทั่วไปของข้าวฟ่าง
โดย นายณรงค์ศักดิ์ เสนาณรงค์
ข้าวฟ่างมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ซอร์กัม ไบคัลเลอร์ (ลินเนียส) โมเอนช์ (Sorghum bicolor(Linnaeus) Moench) จัดเป็นพืชตระกูลหญ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีลำต้นเดียว แต่อาจจะแตกกอหรือหน่อได้ แล้วแต่ชนิดและพันธุ์ของข้าวฟ่าง โดยทั่วไปข้าวฟ่างพวกที่ใช้ประโยชน์จากเมล็ดจะไม่มีการแตกหน่อ ยกเว้นกรณีที่ต้นเดิมหรือยอดถูกทำลายไปก็จะมีการแตกหน่อขึ้นมาใหม่ ข้าวฟ่าง ส่วนใหญ่เป็นพืชฤดูเดียวหรือล้มลุก คือ ออกดอกให้เมล็ดแล้วก็ตายไป แต่มีข้าวฟ่างหลายประเภทที่สามารถอยู่ข้ามปีได้โดยการแตกกอจากต้นเดิม
ส่วนประกอบที่สำคัญของข้าวฟ่างมีดังนี้ คือ
ส่วนต่าง ๆ ของต้นข้าวฟ่าง
- ราก
- ลำต้น
- ใบ
- กาบใบ
- ช่อดอก
ราก
ราก ข้าวฟ่างมีระบบรากฝอย (fibrous root system) รากที่เกิดจากเมล็ดโดยตรงมีรากเดียวและจะมีรากเล็กๆ แตกออกมาจากรากนี้ เรียกว่ารากแขนง เมื่อต้นอ่อนของข้าวฟ่างใช้อาหารจากคัพภะหรือเอ็มบริโอ (embryo) จวนหมด จะเริ่มมีรากเป็นจำนวนมากแตกออกจากข้อของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งจะแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางทั้งแนวราบและแนวลึก รากของข้าวฟ่างนี้มีปริมาณมากกว่ารากข้าวโพดประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้แล้ว ตรงปลายรากชั้นในยังมีสารประกอบพวกซิลิกาอยู่ด้วย ทำให้รากข้าวฟ่างแข็งแรงสามารถชอนไชไปในดินได้ดีกว่ารากข้าวโพด จึงทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่า ตรงข้อเหนือดินอาจมีรากแตกออกมา รากพวกนี้เป็นรากอากาศ ซึ่งช่วยในการค้ำจุนลำต้นไม่ให้ล้มได้ง่าย
ลำต้น
ลำต้น ลำต้นข้าวฟ่างมีความสูงแตกต่างกันตั้งแต่ 45 เซนติเมตร ถึงกว่า 4 เมตร แต่ข้าวฟ่างที่นิยมปลูกกันทั่วไปจะมีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นอยู่ระหว่าง5 มิลลิเมตร ถึง 3 เซนติเมตร ลำต้นจะเจริญเติบโตตั้งตรงเหมือนพืชทั่วไป ลำต้นจะมีข้อ ปล้องใบ และกาบใบ ห่อหุ้มอยู่ทุก ๆ ข้อของต้นจะมีตา แต่จะไม่มีการเจริญ ยกเว้นตาตรงข้อต่ำสุดที่จะเจริญเป็นหน่อหรือกอและกิ่งก้าน ซึ่งจะกลายไปเป็นต้นใหม่ได้ ลำต้นของข้าวฟ่างค่อนข้างแข็งภายในลำต้นจะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีรูอยู่ตรงแกนกลาง บางพันธุ์มีน้ำซึ่งอาจมีรสหวานหรือไม่มีรสเลย และบางพันธุ์อาจแห้ง
ใบ
ใบ ข้าวฟ่างที่ปลูกอยู่ทั่วไปมีใบอยู่ระหว่าง 7 ถึง 24 ใบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม ใบอ่อนของข้าวฟ่างตั้งตรง ขณะที่ใบแก่โค้งลง ใบจะเกิดตามข้อและสลับด้านกันไปตลอดลำต้น ใบแก่มีความยาวของใบตั้งแต่ 30 - 135 เซนติเมตร ความกว้างของใบอยู่ระหว่าง 1.5-15 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือใบหอกเรียว ๆ ขอบใบอาจมีลักษณะเรียบตลอดหรือเป็นคลื่น ใบอ่อนขอบใบจะสากมือและใบแก่จะเรียบลื่น บนเส้นกลางใบใกล้กับฐานใบจะมีขนสั้น ๆ ส่วนที่ผลิตขี้ผึ้งจะอยู่ตรงบริเวณข้อต่อของเส้นกลางใบกับกาบใบ
กาบใบ
กาบใบ กาบใบจะหุ้มอยู่รอบต้นโดยซ้อนวนเริ่มจากขวาทับซ้ายแล้วซ้ายทับขวา กาบใบอาจจะมีความยาวตั้งแต่ 15 - 35 เซนติเมตร ด้านหน้าของกาบใบอาจมีขี้ผึ้งปกคลุมอยู่ ตรงฐานหรือโคนของกาบใบส่วนที่ติดกับข้อจะมีแถบขนสั้น ๆ สีขาวติดอยู่ด้วย
ส่วนต่าง ๆ ของช่อดอกและกาบใบข้าวฟ่าง
ช่อดอก
ช่อดอก ช่อดอกข้าวฟ่างเกิดจากปล้องบนสุดของต้น ซึ่งจะเป็นปล้องที่ยาวที่สุดด้วย ช่อดอกประกอบด้วย ก้านช่อดอก แกนกลางของช่อดอกกิ่งแขนงและกิ่งย่อยช่อดอก ซึ่งเป็นที่เกิดของดอกและเมล็ด ดอกของข้าวฟ่างมีอยู่ 2 ชนิดชนิดแรกเป็นดอกที่ไม่มีก้านซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์ เพศ และจะพัฒนาไปเป็นเมล็ด ดอกอีกชนิดหนึ่งเป็นดอกที่มีก้านดอก ดอกชนิดนี้จะเป็นหมัน มีแต่เกสรตัวผู้เท่านั้น ช่อดอกของข้าวฟ่างจะมีลักษณะหลวมหรือแน่น สั้นหรือยาว และอาจตั้งตรงหรือโค้ง ขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ของข้าวฟ่างพวกข้าวฟ่างไม้กวาด หญ้าซูดาน และข้าวฟ่างหวานบางพันธุ์มักจะมีช่อดอกหลวมมาก ส่วนข้าวฟ่างเมล็ดโดยทั่วไปมักจะมีช่อดอกแน่นและ มีจำนวนเมล็ดมากกว่า จำนวนดอกสมบูรณ์ในแต่ละช่อดอกอาจมีถึง 6,000 ดอก ปกติแล้วการบานของดอกข้าวฟ่าง ตลอดทั้งช่อดอก ใช้เวลาประมาณ 6-9 วัน ในท้องถิ่นที่มีอากาศเย็นอาจใช้เวลานานกว่านั้น โดยธรรมชาติข้าวฟ่างเป็นพืชผสมตัวเอง คือ เกสรตัวผู้ผสมกับเกสรตัวเมียภายในต้นเดียวกัน แต่อาจจะมีการผสมข้ามโดยเกสรตัวผู้จากต้นหนึ่งไปผสมกับเกสรตัวเมียของอีกต้นหนึ่ง โดยลมหรือแมลงได้ถึงร้อยละ15